วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

การดำเนินการสัมมนา (ตอน 2)
ในครั้งที่แล้วอาจารย์พูดถึงการสัมมนาแบบ symposium ซึ่งนับว่าเป็นที่มีการจัดสัมมนาลักษณะนี้บ่อยครั้งขึ้น วันนี้ขอพูดถึงการอภิปรายอีกลักษณะที่พบบ่อยเช่นกันค่ะ
๔.๒.๒ การอภิปรายเป็นคณะ (Panel Discussion) หรือเรียกว่าการอภิปรายหมู่ประกอบด้วยผู้ร่วมอภิปรายวิทยากรประมาณ 3-8 คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็นในทัศนะของตนเอง  โดยมีผู้ดำเนินการอภิปรายจัดลำดับให้พูด ช่วยสำรวจประเด็นการพูด และผู้ร่วมอภิปรายด้วยกัน มีโอกาสซักถาม หรือมีปฏิกิริยาโต้ตอบซึ่งกันและกัน ทำให้บรรยากาศการอภิปรายมีความเป็นกันเอง ไม่เป็นทางการมากนัก การจัดที่นั่งผู้อภิปรายนิยมให้มีลักษณะโค้งเล็กน้อย ผู้ร่วมอภิปรายและผู้ดำเนินรายการอภิปรายสามารถมองเห็นกันได้ดังได้แสดงตัวอย่างภาพการอภิปรายเป็นคณะ (Panel Discussion)
                                                 ที่มาของภาพ: http://www.oocities.org
                4.2.3 การอภิปรายทั่วไป (Forum) หรือการอภิปรายแบบมีส่วนร่วม  เป็นการอภิปรายถึงปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น โดยมีคณะผู้อภิปรายมาช่วยอธิบายชี้แจง แก้ปัญหาให้กับกลุ่มส่วนใหญ่เป็นการซักถามและตอบคำถามโดยวิทยากร ลักษณะการอภิปรายจะตอบปัญหาโดยตรงกับผู้เข้าร่วมสัมมนา  การอภิปรายลักษณะนี้ เรื่องที่นำมาอภิปรายมักเป็นหัวข้อที่ไม่กว้างขวางมากนัก บุคคลที่มีบทบาทสำคัญสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที ยิ่งมีผู้รู้คอยให้คำแนะนำก็จะช่วยให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่นดีขึ้น การอภิปรายได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าฟังได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาความคิด เป็นการทดสอบความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม นิยมจัดขึ้นภายในองค์กร โดยฝ่ายบริหารจะเป็นผู้จะทำหน้าที่เป็นผู้อภิปรายชี้แจง หรือหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร แต่ข้อจำกัดของการอภิปรายแบบนี้คือ อาจมีปัญหาในการควบคุมเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้ง หรือโต้เถียงกันอย่างรุนแรง หรือสมาชิกในกลุ่มได้รับความกดดันอย่างรุนแรงซึ่งนำไปสู่ความแตกแยกในที่สุด
                                                         ที่มาของภาพ: gotoknow.org

         ๔.๔ การสาธิต (Demonstration) เป็นการทำให้เห็นการปฏิบัติ การให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เห็นกระบวนการและขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ อย่างละเอียดเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และเป็นการเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ผู้สาธิตจะต้องมีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี โดยการนำเสนอทั้งด้านการพูด การแสดงให้เห็นด้วยสายตา การตอบคำถาม รวมไปถึงการอธิบายเพิ่มเติม เริ่มต้นสมาชิกจะเผ้ามองดูผู้ดำเนินการสาธิตและรับฟังการอธิบายประกอบ จากนั้นต้องให้โอกาสผู้เข้าร่วมสัมมนาลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ซึ่งผู้สาธิตจะต้องให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
           ผู้ดำเนินการสาธิต (Demonstrator) ต้องเป็นผู้รู้เรื่องที่จะสาธิตเป็นอย่างดี โดยจะต้องมีการวางแผน และวิเคราะห์งานที่ปฏิบัติตลอดจนความคาดหวังของผู้เข้าร่วม สามารถปฏิบัติได้ผลดี  จุดเด่นของการสัมมนาแบบสาธิตก็คือ ผู้เข้าร่วมจะได้เห็นกระบวนการจริงๆ สามารถที่จะทำความเข้าใจได้โดยง่าย และทำให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็ว การสาธิตที่ได้ผลนั้น ขนาดของกลุ่มสมาชิกไม่ควรใหญ่เกินไป และควรจัดให้ผู้แสดงการสาธิตยืนในจุดที่ผู้เข้าร่วมทุกคนสามารถมองเห็นได้ทั่วถึงและจัดเจน
5. การสัมมนากลุ่มย่อย   การประชุมสัมมนากลุ่มย่อย ถือเป็นกิจกรรมหลักของการสัมมนา เพราะว่าเป็นช่วงที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้ได้ข้อยุติที่มีประโยชน์ การประชุมกลุ่มย่อยจะเริ่มหลังจากที่สมาชิกได้รับการเสริมความรู้ และฟังความคิดเห็นจากวิทยากร  จากนั้นที่ประชุมสัมมนาก็จะมีการแบ่งผู้ร่วมสัมมนาออกเป็นกลุ่มย่อยตามลักษณะปัญหา ตลอดจนความสนใจและประสบการณ์ โดยจัดทำรายชื่อสมาขิกในกลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มให้ทราบ หลังจากนั้นจัดให้สมาชิกแยกย้ายกันประชุมกลุ่มย่อยตามที่กำหนดไว้
            การประชุมสัมมนากลุ่มย่อยในการจัดสัมมนา จะได้ผลมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถ และเจตคติของทุกคนในกลุ่ม นับตั้งแต่ประธานจนถึงผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกคน และวิทยากรประจำกลุ่ม ทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนจนสุดความสามารถ หาไม่แล้วการสัมมนาก็จะไม่มีความหมาย ได้ผลไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายและเวลาที่เสียไป  นอกจากนี้แล้ว จำนวนผู้เข้าร่วมสัมมนากลุ่มย่อยที่เหมาะสม ควรมีจำนวนสมาชิกกลุ่มละประมาณ 6-20 คน
หน้าที่และบทบาทของผู้เข้าร่วมสัมมนากลุ่มย่อย
            หลังจากผู้เข้าร่วมสัมมนาแยกย้ายกันเข้าประจำแต่ละกลุ่มย่อยแล้ว วิทยากรกลุ่มย่อยจะเป็นผู้ดำเนินการเริ่มต้นประชุม ให้กลุ่มย่อยนั้นๆ ทำการเลือกสมาชิกกลุ่มทำหน้าที่ต่างๆ ในการประชุมกลุ่มย่อย โดยมีหน้าที่ต่างๆ ดังนี้ (ชำนาญ  รอดเหตุภัย 2522: 19-22: อ้างถึงใน สัมมนา, ผล  ยาวิชัย)
            ประธานกลุ่ม  ซึ่งมีหน้าที่
-  ดำเนินการประชุมกลุ่ม โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอความคิดเห็นเพื่อหาข้อยุติในการแก้ปัญหา หรือข้อที่จะต้องปฏิบัติร่วมกันต่อไป
-  กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมได้มีส่วนร่วมในการอภิปราย แสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปล่อยให้ผู้เข้าร่วมบางคนนั่งคุยกัน ท่องอินเตอร์เนต up facebook, Chat online และอื่นๆ ในขณะที่ร่วมประชุม
-  ควบคุมการประชุมให้อยู่ในขอบเขตหัวข้อสัมมนา และจะต้องพยายามหาทางยุติการประชุมพร้อมทั้งสรุปผลให้ได้ตามเวลาที่กำหนด
-  สรุปความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมแต่ละคนออกมาเป็นแนวคิดของกลุ่มที่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนในกลุ่มยอมรับ
-   ประธานต้องประสานความคิดให้ยอมรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน ในกรณีที่สมาชิกมีความคิดเห็นขัดแย้งกัน เหตุผลของใครมีน้ำหนักมากกว่า หรือได้รับการแสดงความคิดเห็นสนับสนุนมากกว่า ประธานควรหลีกเลี่ยงวิธีการ ลงคะแนนเสียง เพราะจะทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาบางคนไม่พอใจได้
ประธานควรมีบุคลิกภาพ และแนวทางปฏิบัติที่เป็นประชาธิปไตย นั่นคือ ไม่ดำเนินการแบบเผด็จการยินดีรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ใช้ปัญญาเพื่อแก้ปัญหา ควบคุมอารมณ์ให้มั่นคงและพยายามประสานความคิดเห็นของสมาชิกให้ได้ข้อยุติที่มีคุณค่าและทำหน้าที่รายงานผลการประชุมกลุ่มย่อยต่อที่ประชุมใหญ่ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณารับผลของการสัมมนาในครั้งนั้น ซึ่งการนำเสนอบางครั้งอาจมีข้อซักถามหรือเสนอแนะให้ปรับปรุงเพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นก็ได้
            รองประธาน  ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานในที่ประชุมเมื่อประธานติดภารกิจด่วนไม่อาจทำ 
               หน้าที่ได้
            เลขานุการกลุ่ม 
-  จดบันทึกการประชุม ตามรูปแบบระเบียบสารบัญ โดยเฉพาะข้อสรุปต่างๆ ต้องเขียนให้ชัดเจนเข้าใจง่าย
-  ทำหน้าที่ใช้เครื่องโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ ประกอบการประชุม หรืออาจให้ผู้ช่วยเลขานุการทำหน้าที่แทนได้ โดยไปทำหน้าที่บันทึกการประชุมด้วยตนเอง
-  รายงานการประชุมกลุ่ม และส่งมอบให้เจ้าหน้าที่จัดสัมมนา สำเนาเอกสารหรือพิมพ์แจกสมาชิกทั้งหมดในที่ประชุม
-  รายงานผลการประชุมกลุ่มย่อยต่อที่ประชุมใหญ่  ตามที่ได้รับมอบหมาย
ผู้เข้าร่วมสัมมนา
-  เข้าประชุมตามความสนใจ หรือตามที่ผู้จัดสัมมนาได้กำหนดไว้
-  เลือกผู้ที่จะทำหน้าที่ประธาน รองประธาน เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการในการประชุมกลุ่มย่อย
-  แสดงความคิดเห็นในหัวข้อสัมมนาพร้อมรับฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น
-  หยุดทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสัมมนาในขณะร่วมสัมมนา เช่นการนั่งเล่นโทรศัพท์ คุยกับคนข้างๆ เป็นต้น
-  ขณะอภิปราย ไม่ควรนอกประเด็น
วิทยากรประจำกลุ่ม
-  ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่สัมมนา โดยเฉพาะหัวข้อสัมมนาของกลุ่มที่ตนเป็นวิทยากรประจำกลุ่มล่วงหน้า
-  เปิดประชุมกลุ่ม เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ในตารางสัมมนา กล่าวนำเข้าสู่หัวข้อสัมมนาเพื่อเร้าความสนใจของสมาชิกในกลุ่มให้เตรียมความพร้อมก่อนที่จะทำงานต่อไป ทำความเข้าใจหัวข้อสัมมนาให้สมาชิกเข้าใจตรงกัน และบางครั้งอาจต้องปูพื้นความรู้เกี่ยวกับหัวข้อสัมมนาให้แก่สมาชิกด้วย
-   ดำเนินการให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาในกลุ่ม ได้เลือกตั้งประธานและเลขานุการ บางครั้งอาจให้เลือกตำแหน่งรองประธาน และผู้ช่วยเลขานุการด้วยก็ได้ ถ้าหากมีผู้เข้าร่วมสัมมนาพอสมควร และมีเรื่องที่ต้องสัมมนากันมาก
-  ให้คำแนะนำช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษากลุ่ม หาทางแก้ปัญหาและขอความคิดเห็น ตามปกติวิทยากรประจำกลุ่มจะไม่ร่วมอภิปรายด้วย เพียงแต่สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ เพื่อให้การจัดการสัมมนาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
แบบฝึกหัดประจำบท
๑. ใครเป็นผู้กล่าวแนะนำวิทยากรเกี่ยวกับคุณสมบัติหน้าที่การงาน คุณวุฒิ ความสามารถพิเศษ
    ความเหมาะสมในเรื่องที่อภิปราย
ก. พิธีกรประจำงาน                   ข. ประธานกลุ่มย่อย        
ค. ผู้ดำเนินการอภิปราย              ง. ฝ่ายประชาสัมพันธ์งาน
 ๒. วิธีการประชุมสัมมนาแบบใดที่มีความเหมาะสมต่อการสัมมนาทางวิชาชีพครู
              ก. การสาธิต      ข. การบรรยาย      ค. การอภิปราย            ง. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
๓. การสัมมนากลุ่มย่อยจะได้ผลมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับ
            ก. ความรู้  ความจำ  ความสามารถของทุกคนในกลุ่ม
            ข. ความรู้  ความสามารถ  และเจตคติของทุกคนในกลุ่ม
            ค. ความรู้  ความสามารถ  และทักษะปฏิบัติของทุกคนในกลุ่ม
            ง. ความรู้  ความสามารถ และประสบการณ์ของทุกคนในกลุ่ม
๔. ตัวเลือกใดไม่ใช่หน้าที่ของผู้เข้าร่วมสัมมนา
            ก. เข้าประชุมตรงเวลาเลือกเข้าฟังกลุ่มย่อยตามความสนใจ
            ข. หยุดทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสัมมนาขณะเข้าร่วมสัมมนา
            ค. แสดงความคิดเห็นในหัวข้อสัมมนาพร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
            ง. อภิปรายนอกประเด็นเพื่อเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมตามที่ตนเองสนใจ
5. ผู้ทำหน้าที่ใดในการสัมมนา ที่ต้องมีความอดทนและมีทักษะในการแก้ปัญหามากที่สุด
            ก. เลขานุการ เนื่องจากต้องจดบันทึก จัดทำรายงานการประชุม และงานหนักอื่นๆ มากกว่า
                ทุกฝ่าย
            ข. ผู้เข้าร่วมสัมมนา เนื่องจากต้องพยายามเสนอความคิดเห็นให้ขัดแย้งและพาดพิงผู้อื่น
                น้อยที่สุด
            ค. ประธาน เนื่องจากต้องเป็นผู้ควบคุมการประชุมและต้องเป็นประชาธิปไตยในขณะเดียว
                กัน
            ง. วิทยากรประจำกลุ่มเนื่องจากต้องเป็นที่ปรึกษากลุ่ม และหาวิธีแก้ปัญหาตามที่กลุ่มขอ
                ความคิดเห็น
6. รูปแบบการสัมมนาใดที่ผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้ที่ชัดแจ้ง (insight) มากที่สุด
            ก. การอภิปรายทั่วไป (Forum)                                 ข. การสาธิต (Demonstration)
            ค. การอภิปรายแบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Symposium Discussion)      
            ง. การอภิปรายเป็นคณะ (Panel Discussion)
๗. การดำเนินการสัมมนาแบบใดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา
            ก. แบบบรรยาย (Lecture)                                            ข. แบบอภิปราย (Discussion)
            ค. การสาธิต (Demonstration)                                       ง. ถูกทุกข้อ
8. การจัดกลุ่มเพื่อประชุมสัมมนากลุ่มย่อย ควรยึดหลักใดเป็นสำคัญ
            ก. แบ่งกลุ่มตามองค์กรหรือลักษณะงานประจำ                ข. แบ่งกลุ่มคละความสามารถ
            ค. แบ่งกลุ่มแบบสุ่มเพื่อให้มีโอกาสศึกษากันในวงกว้าง       ง. แบ่งกลุ่มตามความสนใจ
๙. หากนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ได้รับมอบหมายให้จัดสัมมนาเรื่อง “สภาพปัญหาของนักเรียนชายขอบ
     ในประเทศไทยและแนวทางแก้ไข” โดยอาจารย์ได้กำหนดให้ใช้หอประชุมฑีปังกรรัศมีโชติ เวลา
     บ่ายวันพุธ ที่ ๒๓ มกราคม ๒55๖ คืออีก ๘ วันข้างหน้า และมีงบประมาณให้ 5, ๐๐๐ บาท
     นักศึกษาจะเลือกใช้รูปแบบการสัมมนาแบบใด
      ก. การบรรยาย เพราะพื้นที่ศรีสะเกษอยู่ใกล้ชายขอบและมีวิทยากรผู้มีความรู้เชิงลึกหลายท่าน
          ตลอดจนเวลาที่ให้ดำเนินการจำกัด
      ข. การสัมมนากลุ่มย่อย เพราะมีหลายโรงเรียนที่ประสบปัญหานักเรียนชายขอบ จึงควรจัด
          โอกาสให้แลกเปลี่ยนประสบการณ์
      ค. การสาธิต เพราะจะได้เห็นสภาพปัญหาชัดเจน และโรงเรียนในพื้นที่มีวิทยากรที่มีองค์ความรู้
          และความชำนาญสูงอยู่แล้ว
      ง. การจัดอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (symposium) เนื่องจากงบประมาณและสถานที่เพียงพอ
         และเป็นรูปแบบการสัมมนาที่กำลังเป็นที่แพร่หลาย
๑๐. ผู้ใดมีบทบาทสำคัญที่สุดในการทำให้การสัมมนาประสบผลสำเร็จ
            ก. วิทยากร         ข. ประธาน         ค. เลขา              ง. ผู้เข้าร่วมประชุม
อย่าลืมส่งเฉพาะคำตอบไปที่ kanthima_sskru@hotmail.com ไม่เกินเวลาที่กำหนดให้ (กลับไปดูที่ตอนที่ 1)นะคะ และขอย้ำว่า ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญ เสียชีพอย่าเสียสัตย์ จ๊ะ ทำเองดีที่สุดเพราะ practice make perfect ค่ะ
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น